ดนตรีเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ปรุงแต่งขึ้น และได้เป็นเพื่อนทางจิตใจของมนุษย์มาช้านานแล้ว คำถามที่ว่าศิลปะแขนงนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อใด ไม่มีผู้ใดสามารถให้คำตอบได้ แต่ว่าอาศัยหลักฐานและข้ออิงทางมานุษยวิทยาแล้วก็จะกล่าวได้ว่า ดนตรีเริ่มมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์นานนักหนาแล้ว มีหลักฐานว่าอารยธรรมของดนตรีในซีกโลกตะวันออกนั้น เกิดขึ้นมาก่อนดนตรีในซีกโลกตะวันตก ประมาณ 2,000 ปี สิ่งหนึ่งที่ทำให้เกิดดนตรีขึ้นครั้งแรก คือ “ความหวาดกลัว” ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ไม่ว่าการเกิดกลางวันหรือกลางคืน การผลัดเปลี่ยนของฤดูกาล ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฝนตก น้ำท่วม แผ่นดินไหว ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งที่สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงและความกังวลใจให้แก่มนุษย์ในยุคนั้นเป็นอันมาก พวกเขามีความเข้าใจว่า ปรากฏการณ์ต่างๆเหล่านี้มีทั้งพระเจ้าที่ดีและร้ายอยู่ในตัว
ดนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวนของมนุษย์ โดยไม่จำกัดเพศ วัย ระดับการศึกษา หรือฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ดนตรีสำหรับบางคนอาจมีวัตถุประสงค์ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด เพื่อความซาบซึ้งไปกับอารมณ์ของบทเพลง บางคนต้องการฝึกฝนอย่างจริงจังเพื่อเป็นนักร้อง นักดนตรี ฯลฯ การมีประสบการณ์ทางดนตรีในลักษณะต่างๆ แต่ละคนจึงมีมุมมองเกี่ยวกับดนตรีในมิติที่แตกต่างกัน อาทิเช่น มิติที่เป็นรูปแบบของศิลปะวัฒนธรรม มิติที่เป็นรูปแบบของความคิดและจินตนาการ มิติที่เป็นรูปแบบของนันทนาการและการบันเทิง มิติที่เป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง มิติที่เป็นหลักสูตรการศึกษา มิติที่เป็นสุนทรียภาพ มิติที่เป็นสื่อธุรกิจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อค้นพบจากการศึกษาวิจัยในช่วงปลายคริสตศตวรรษที่ผ่านมาสามารถอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับชีวิตได้ชัดเจนมากขึ้น มุมมองเกี่ยวกับดนตรีในมิติที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของชีวิต จึงกำลังเป็นที่สนใจ มีการขยายผล นำไปประยุกต์ใช้ และค้นคว้าทดลองอย่างจริงจังในปัจจุบัน ซึ่งความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีกับชีวิตมีประเด็นการศึกษา
การดำเนินชีวิตของคนไทยตลอดชีวิต ต้องมีดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ทั้งนี้เป็นไปตามความเชื่อและวัฒนธรรมหรือวิถีไทย ดนตรีจะมีส่วนเสริมสร้างความเข้มแข็ง ความสุข ความสนุกสนาน เพื่อให้คลายจากความกลัว ความกังวน ความเหน็ดเหนื่อย หรือความทุกข์ทั้งหลาย ดนตรีนับว่ามีคุณค่าต่อมนุษย์อย่างมากมาย ดนตรีมีบทบาทในชีวิตคนเราตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย โดยเฉพาะคนไทยถ้าได้ยินเสียงดนตรีที่ไหนก็ตาม หมายความว่าที่แห่งนั้นจะต้องมีงานมหรสพ ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานกุศล งานฉลองต่าง ๆ หรืองานศพ เช่น พอเด็กเกิดมาก็จะมีการทำขวัญเดือน โกนผมไฟ ซึ่งถือว่าเป็นพิธีมงคลแก่ชีวิตเด็ก ซึ่งผู้ใหญ่ต้องเป็นฝ่ายทำให้ และเมื่อเข้าสู่วัยหนุ่มสาวก็มีการโกนจุกซึ่งแสดงว่าเด็กเข้าสู่วัยที่โตแล้ว ในช่วงชีวิตต่อไปก็คือ การอุปสมบทของชายก็มีการทำขวัญนาค นอกจากที่กล่าวมาแล้วยังมีอีกหลายงาน อาทิเช่น การแต่งงาน การฉลองอายุ ฉลองครบรอบแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ล้วนแต่ใช้ดนตรีประกอบทั้งสิ้น เป็นการแสดงให้เกิดความสนุกสนานรื่นเริง มองดูศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจะเห็นว่าการดำเนินชีวิตของคนไทยจะมีความสัมพันธ์กับดนตรีมาตลอด