ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและอิทธิพลของการสื่อสารมวลชนในสังคมสมัยใหม่ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ และสื่อดิจิตอล ส่งผลกระทบต่อสังคม วัฒนธรรมในทุกๆ ด้านวัฒนธรรมมวลชน (Mass Culture) ซึ่งเป็นเรื่องของสื่อ การตลาด การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่มีลักษณะเป็นมาตรฐาน (Standardization) และการผลิตซ้ำ (Reproduction) จำนวนมากๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคขนาดใหญ่ เรียกว่า “อุตสาหกรรมสร้างวัฒนธรรม”
ตลอดช่วง 50 ปีที่ผ่านมา พัฒนาการของดนตรีในประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากสื่อสารมวลชนในหลากหลายรูปแบบ ดังจะพบเห็นได้จากปรากฎการณ์ดนตรีที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสื่อสารมวลชนเข้ากับการทำงานดนตรีในรูปแบบต่างๆ เช่น การนำเทคโนโลยีสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ มาประยุกต์ใช้ในการสร้างสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ดนตรี หรือการบันทึกดนตรีเพื่ออนุรักษ์ไว้ในรูปแบบของวัฒนธรรมลายลักษณ์ หรือการใช้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และสื่ออิเล็คโทรนิค เพื่อเพิ่มช่องทางการสื่อสาร (Channel) ดนตรี จากเดิมที่ผู้เล่น (นักดนตรีหรือผู้ประพันธ์ดนตรี) จะสื่อสารกับผู้ฟัง (ผู้ฟังและผู้ชม) โดยตรง เป็นดนตรีที่ผู้เล่นสื่อสารกับผู้ฟังผ่านระบบสื่อสารมวลชน (Mass Mediated Music Phenomenon) ซึ่งวัฒนธรรมดนตรีผ่านสื่อสารมวลชนนี้ ได้ทำให้ดนตรีมิใช่เป็นเพียงดนตรีของผู้เล่น หรือของปัจเจกชน (Private) อีกต่อไป แต่ดนตรีกลายเป็นวัฒนธรรมของมวลชนที่เป็นสาธารณะ (Public) และสร้างปรากฎการณ์ดนตรีที่เรียกว่า ดนตรีของมวลชน (Pop Music) ในรูปแบบต่างๆ กันออกไป
นอกจากนี้ เทคโนโลยีของสื่อสารมวลชนดังกล่าว ยังได้ก่อให้เกิดระบบทางวัฒนธรรมดนตรีที่สำคัญอีกประการหนึ่งได้แก่ “อุตสาหกรรมดนตรี” เพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับดนตรีหรือใช้ดนตรีเป็นส่วนประกอบหนึ่งในการทำธุรกิจ ดนตรีในอุตสาหกรรมดนตรีนั้น จะบันทึกดนตรีเก็บไว้ในสื่อ (Media) ประเภทต่างๆ เช่น สิ่งพิมพ์ แผ่นเสียง คาสเซ็ตเทป ซีดี วีซีดี ฯลฯ และสื่อดนตรีเหล่านี้ก็จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป ทั้งในด้านการอนุรักษ์ เผยแพร่ บันเทิง หรือธุรกิจดนตรีอื่นๆ ตัวอย่างเช่น การถ่ายทอดสด/บันทึกการแสดงดนตรีเพื่อเผยแพร่ในรายการบันเทิงทางโทรทัศน์ การบันทึกดนตรีพื้นบ้านลงคาสเซ็ตเทปเพื่อการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม การบันทึกและใช้แผ่นเสียงดนตรีในรายการเพลงทางวิทยุ หรือแม้แต่การสร้าง/บันทึกทำนองเพลงต่างๆ ลงสื่อดิจิตอลที่เรียกว่า ริงโทน (Ring tone) เพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตที่กำลังได้รับความนิยมในสังคมไทยปัจจุบัน เป็นต้น รวมไปถึง การใช้ประโยชน์จากการหลอมรวมของสื่อ (Convergence Media) ที่สามารถเชื่อมโยงสื่อต่างๆ เข้าด้วยกัน สร้างให้เกิดปรากฎการณ์ดนตรีในสังคมใหม่ ได้แก่ ดนตรีในอินเตอร์เน็ต ในเว็บไซต์ต่างๆ ซึ่งพบว่ามีทั้งการนำเสนอโน้ตดนตรีที่สามารถพิมพ์ออกมาในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ได้ สามารถฟังดนตรีทางวิทยุหรือชมการแสดงดนตรีทางโทรทัศน์บนอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงการสร้าง, อัพโหลด และดาวน์โหลดเพลง และริงโทนแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ใช้ ซึ่งผู้เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์สามารถเลือกทำทุกอย่างหรือเลือกรับสาระทางดนตรีในสิ่งที่ต้องการได้ การหลอมรวมของดนตรีในสื่ออินเตอร์เน็ตดังกล่าว ทำให้ผู้ฟังดนตรีมีพื้นที่ที่สามารถจะเป็นทั้งผู้สร้างและผู้ฟังดนตรี สร้างดนตรีด้วยตนเองได้ สื่อสารดนตรีกับผู้อื่นได้ทั่วโลก จากอำนาจของการสื่อสารมวลชนที่มีต่อดนตรีดังกล่าว ทำให้ดนตรีเป็นทั้งศิลปะที่มีคุณค่า และเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งส่งผลต่อการกำหนดเนื้อหาสาระ (Media Agenda) ของสื่อดนตรีที่ต้องการเผยแพร่
อาจกล่าวได้ว่า ความเจริญก้าวหน้าและเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งรูปแบบและเนื้อหาสาระ (Massage) ของดนตรีในสังคมไทยปัจจุบัน สื่อสารมวลชนทำให้ดนตรีมีการเคลื่อนย้ายฐานความรู้ ช่วยขยายขอบเขตการเรียนรู้ดนตรี เพิ่มช่องทางการเผยแพร่ดนตรี (Channel) สู่ผู้ฟังมากขึ้น ขณะเดียวกันข้อจำกัด ข้อดี และข้อเสียของสื่อแต่ละประเภทก็เป็นปัจจัยสาเหตุสำคัญในการกำหนดทิศทาง รูปแบบและเนื้อหาของดนตรี วัฒนธรรมดนตรีผ่านสื่อที่ถูกผลิตซ้ำ (re-production) ถูกใช้เพื่อสร้างกระแส และเปลี่ยนแปลงค่านิยมทางดนตรีในสังคม รวมไปถึงสุนทรียะของทั้งผู้เล่น (Sender) และผู้รับ (Receiver) สิ่งเหล่านี้ทำให้ดนตรีในสังคมไทยช่วง 50 ปีที่ผ่านมาถูกบันทึกและได้รับการเผยแพร่ในสังคมในรูปแบบที่หลากหลาย เกิดเป็นพัฒนาการของวัฒนธรรมดนตรี และสังคมคนดนตรีรูปแบบต่างๆ มากมาย อาทิ ดนตรีประกอบรายการโทรทัศน์ ดนตรีสำหรับงานโฆษณา มิวสิควิดีโอ ดนตรีประกอบภาพยนตร์ ดนตรีธุรกิจ หรือดนตรีออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ฟังดนตรีที่จะเลือกรับหรือไม่รับ โดยสามารถฟัง อ่าน หรือชมดนตรีผ่านสื่อสารมวลชนในหลากหลายรูปแบบ