ดนตรี สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบ ใช้ได้ทั้งในวัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ เพื่อสนองตอบความจำเป็นที่แตกต่างกันไป ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เช่น ปัญหาพัฒนาการบกพร่อง โรคซึมเศร้า โรคอัลไซเมอร์ ปัญหาการบาดเจ็บทางสมอง ความพิการทางกาย อาการเจ็บปวด หรือสำหรับคนปกติทั่วไป ก็สามารถใช้ประโยชน์จากดนตรีบำบัดเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด หรือเพื่อปลดปล่อยอารมณ์ได้ ด้วยเหตุนี้นอกจากเราจะใช้ประโยชน์จากดนตรีเพื่อความสุนทรีย์แล้ว ปัจจุบันมีการนำดนตรีมาใช้ประโยชน์ เพื่อการฟื้นฟูเยียวยาจิตใจของผู้ป่วยและคนทั่วไปมากขึ้น ในศาสตร์ของ ดนตรีบำบัด เพราะพบว่าดนตรีใช้ได้ผลดียิ่งกับโรคทางกายและทางจิตเวช
โดยดนตรีมีองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งมีคุณสมบัติและประโยชน์แตกต่างกันไป อย่างเช่น
1.จังหวะและลีลา (Rhythm) ช่วยเสริมสร้างสมาธิ และช่วยให้เกิดความผ่อนคลาย
2.ระดับเสียง (Pitch) เสียงในระดับสูงปานกลาง จะช่วยให้เกิดความรู้สึกสงบ
3.ความดัง (Volume / Intensity) เสียงเบานุ่มทำให้เกิดความสงบสบายใจ ส่วนเสียงดังทำให้เกิดการเกร็งกระตุกของกล้ามเนื้อได้ ความดังที่เหมาะสมจะช่วยสร้างระเบียบในการควบคุมตนเองได้ดี
4.ทำนองเพลง (Melody) ช่วยในการระบายความรู้สึกส่วนลึกของจิตใจ ทำให้เกิดความริเริ่มสร้างสรรค์และลดความวิตกกังวล
5.การประสานเสียง (Harmony) ช่วยในการวัดระดับอารมณ์ความรู้สึกได้ โดยดูจากปฏิทินที่แสดงออกมาเมื่อฟังเสียงประสานต่าง ๆ จากเพลง
ปัจจุบันการรักษาทางเลือก เริ่มมีบทบาทในการช่วยการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยตามโรงพยาบาลต่างๆเริ่มเห็นความสำคัญโดยนำดนตรีและศิลปะบำบัด เข้าไปเป็นส่วนร่วมในการบำบัดรักษามากขึ้น เพื่อสร้างสภาวะสมดุลและ สามารถดำรงอยู่ต่อไปอย่างสบายดี
จะเห็นได้ว่า การบำบัดด้วยดนตรี นอกจากจะทำให้ผู้รับการบำบัดเกิดสมาธิ มีอารมณ์ มีความรู้สึกที่สบายใจแล้ว ยังเบี่ยงเบนความคิดจากเรื่องราวที่เครียดหรือกังวลอยู่ ไปสู่ความคิดใหม่ๆ ที่สร้างสรรค์และเอื้อประโยชน์ต่อการปรับปรุงตนเองให้มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ซึ่งดนตรีมีผลทางด้านจิตใจและสามารถเป็นสื่อเชื่อมโยงอำนาจที่อยู่เหนือจิตใจมนุษย์ ทั้งนี้เพราะดนตรีเป็นศิลปะที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นจากสติปัญญา เพื่อตอบสนองอารมณ์และความรู้สึกนั่นเอง ดังนั้น ดนตรีจึงไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่รักษาร่างกายของเราเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการรักษาอารมณ์และจิตวิญญาณให้ดีขึ้น และมีความสุขมากยิ่งขึ้นอีกด้วย